การปกครองสมัยธนบุรี
การปกครองของกรุงธนบุรี มีลักษณะตามแบบแผนสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งมีการแบ่งส่วนราชการดังต่อไปนี้ การบริหารราชการส่วนกลาง มีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือสมุหพระกลาโหม ดูแลฝ่ายทหาร มีเจ้าพระยามหาเสนาบดีเป็นหัวหน้า และสมุหนายก ดูแลฝ่ายพลเรือน มีเจ้าพระยาจักรีเป็นหัวหน้า กับมีตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ อีก 4 ตำแหน่งซึ่งขึ้นตรงต่อสมุหนายก คือ
กรมเมือง(นครบาล) มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในราชธานี และรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร
กรมวัง(ธรรมาธิกรณ์) มีหน้าที่ เกี่ยวกับราชสำนักและช่วยพระมหากษัตริย์ในการพิพากษาคดี
กรมคลัง(โกษาธิบดี) มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บเงินผลประโยชน์ของแผ่นดิน และดูแลด้านการติดต่อกับต่างประเทศ
กรมนา(เกษตราธิการ) มีหน้าที่เกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาของประชาชน และการเก็บภาษีหางข้าว
การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ยังคงมีการแบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นต่างๆ คือ
หัวเมืองชั้นใน เป็นเมืองที่อยู่รายรอบราชธานี มีผู้ปกครองเรียกว่า ผู้รั้ง จัดเป็นหัวเมืองชั้นตรีขึ้นตรงต่อเสนาบดีจตุสดมภ์
หัวเมืองชั้นนอก(เมืองพระยามหานคร) เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป แบ่งออกเป็นชั้นเอก โท ตรี ตามขนาดและความสำคัญของเมืองนั้น ผู้ปกครองเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกส่งไปจากราชธานี หัวเมืองประเทศราช หัวเมืองประเภทนี้ เป็นเมืองของต่างชาติที่มาขึ้นกับไทย เมืองเหล่านี้มีหน้าที่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด ในสมัยกรุงธนบุรี มี กัมพูชา ลาว ลานนา และที่พิเศษในสมัยนี้ก็คือเมืองนครศรีธรรมราช ได้ถูกยกเป็นประเทศราชด้วยเพราะพระองค์ต้องการให้เมืองนี้เป็นกองกำลังสำคัญ ทางฝ่ายใต้ในการควบคุมดูแลและขยายกิจการทางใต้ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น